ขูดหินปูน เรื่องราวการดูแลรักษาสุขภาพฟันที่คุณไม่ควรมองข้าม เพราะการขูดหินปูนเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องทำเป็นประจำทุกปี แต่ก็มีคนจำนวนมากที่มองข้าม ละเลยการขูดหินปูนด้วยหลายเหตุผลไม่ว่าจะเป็นการขี้เกียจ มองว่าเสียเวลา การคิดว่าเปลืองค่าใช้จ่าย บ้างก็กลัวเจ็บ กลัวเลือด หรือการที่หลายคนมั่นใจว่าตัวเองทำความสะอาดฟันเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งแม้จะแปรงฟันดีสักแค่ไหน ทันตแพทย์ทั่วโลกต่างยืนยันว่าคนทุกเพศทุกวัยควรเข้ารับการ ขูดหินปูนทุกๆ 6 เดือน หรือเฉลี่ยปีละ 2 ครั้งเพื่อไม่ให้เกิดคราบหินปูนที่ฝังแน่นจนแก้ยาก
แม้หลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไมต้องขูดหินปูน คำตอบคือในทุกวันที่เราใช้ชีวิตจะมี คราบหินปูน ใหม่ ๆ เกิดขึ้นสะสมซึ่งเป็นตัวการก่อโรคในช่องปากหลายโรค ส่วนท่านที่สงสัยว่าคราบฟันหรือหินปูนเกิดขึ้นได้อย่างไร เรามีคำตอบมาฝากดังนี้
หินปูนหรือหินน้ำลาย เป็นแผ่นคราบจุลินทรีย์ที่แข็งตัวเนื่องจากมีธาตุแคลเซียมจากน้ำลายเข้าไปตกตะกอน แผ่นคราบจุลินทรีย์คือคราบสีขาวขุ่นนิ่มที่ประกอบด้วยเชื้อโรค ติดอยู่บนตัวฟัน ถึงจะใช้วิธีบ้วนน้ำก็ไม่สามารถทำให้หลุดออกได้ง่าย ๆ กระบวนการเกิดคราบจุลินทรีย์เริ่มต้นหลังจากที่แปรงฟันแล้วเพียง 2-3 นาที ซึ่งจะมีเมือกใสของน้ำลายมาเกาะที่ตัวฟัน ต่อมาเชื้อโรคที่มีอยู่มาก ในปากจะมาเกาะทับถมกัน ในส่วนของบนพื้นผิวหินน้ำลายก็จะมีคราบจุลินทรีย์ปกคลุมหินน้ำลายที่โผล่พ้นขอบเหงือก สามารถมองเห็นได้ แต่ส่วนที่อยู่ใต้เหงือกจะมองไม่เห็น หินปูนหรือคราบจุลินทรีย์ ที่ยึดติดอยู่บนหินปูนใต้เหงือกไม่สามารถกำจัดออกได้ พอมากเข้าก็เกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ โดยคราบจุลินทรีย์นี้เองเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคฟันผุ
ทั้งนี้เมื่อมนุษย์รับประทานอาหารเข้าไปคราบจุลินทรีย์เหล่านี้จะใช้น้ำตาลจากอาหารสร้างกรดและสารพิษ ซึ่งกรดจะทำลายเคลือบฟันทำให้ฟันผุ สารพิษจะทำให้เหงือกอักเสบ หากไม่กำจัดคราบจุลินทรีย์โดยการทำความสะอาดฟันและเหงือกอย่างดีทุกวัน คราบนี้จะเพิ่มมากขึ้นและทำอันตรายต่อฟันและเหงือกได้ ที่ผ่านมาจุดมักพบคราบจุลินทรีย์มากคือบริเวณคอฟัน บริเวณขอบเหงือกและซอกฟัน สามารถใช้สีย้อมให้เห็นคราบได้ชัดเจน แต่บางคนที่คราบหินปูนหนามาก ๆ สามารถเห็นและรู้สึกได้เมื่อใช้ลิ้นสัมผัสไปตามฟัน
ด้านวิธีการทำความสะอาดฟัน คือต้องอาศัยทันตแพทย์ช่วยกำจัดขูดหินปูนฟันให้ โดยทันตแพทย์จะขูดหินปูนออกทั้งเหนือเหงือกและใต้เหงือก จากนั้นทำรากฟันให้เรียบ ปราศจากสารพิษใด ๆ เพื่อให้เหงือกยึดแน่นรอบตัวฟันเหมือนเดิม
ขูดหินปูนนานไหม การขูดหินปูนในแต่ละบุคคลจะใช้เวลาไม่เท่ากัน ซึ่งการขูดหินปูนให้หมดจริง ๆ อาจต้องใช้เวลาครั้งละ 30-45 นาที เป็นเวลา 2-4 ครั้ง หรือมากกว่านั้น ขึ้นกับความมากน้อยของหินปูน ความลึกของร่องลึกปริทันต์ ความแข็งของหินปูนเป็นต้น หลังจากนั้นประมาณ 4-6 อาทิตย์ ทันตแพทย์จะประเมินผลดูว่าผู้ป่วยหายจากโรคปริทันต์ ( โรคที่เกิดกับเนื้อเยื่อหรืออวัยวะรอบ ๆ ตัวฟัน ได้แก่ เหงือก เนื้อเยื่อปริทันต์ และกระดูกหุ้มรากฟัน ) หรือไม่
ด้วยการดูลักษณะเหงือกว่ากลับสู่สภาพเดิมหรือยัง มีอาการอักเสบไหม มีเลือดออกเวลาแปรงฟันรึเปล่า และเมื่อใช้เครื่องมือวัดร่องลึกปริทันต์ ว่าตื้นขึ้นหรือเข้าสู่ภาวะปกติหรือไม่ หากยังมีความลึกของ ร่องลึกปริทันต์อยู่ทันตแพทย์จะพิจารณาว่า ควรจะทำการผ่าตัดหรือไม่ โดยเรื่องนี้ขึ้นกับการร่วมมือของผู้ป่วยในการทำความสะอาดด้วยแม้ว่าเหงือกจะกลับคืนสู่สภาวะปกติแล้ว หากผู้ป่วยละเลย ไม่ทำความสะอาดอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ก็อาจกลับมามีปัญหาในช่องปากได้อีก
ส่วนคำถามยอดนิยมเกี่ยวกับการขูดหินปูนก็คือการขูดหินปูนจะทำให้ฟันสึก ฟันบาง ฟันห่างหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะการขูดหินปูนเป็นการใช้ความถี่ในการสั่นของเครื่องเคาะเพื่อทำการกะเทาะให้หินปูนแตก และร่อนออกมาเป็นแผ่น ๆ ไม่ใช่เป็นการไปขูดหรือไปกรอฟัน การขูดหินปูนจึงไม่สัมผัสกับพื้นผิวของฟัน ไม่ทำให้เนื้อฟันสึกกร่อน ทำให้ฟันบาง หรือฟันห่างแต่อย่างใด การขูดหินปูนคือการทำให้ร่องฟันสะอาดไม่ถูกเกาะด้วยคราบหินปูน เพียงแต่หลังจากการขูดหินปูนใหม่ ๆ เมื่อเอาลิ้นแตะตามตามร่องฟันจะสัมผัสกับร่องฟันแต่ละซี่ได้ ทำให้มีความรู้สึกเหมือนฟันสึกกร่อน ฟันบางลง ฟันห่างขึ้น ซึ่งความจริงหลังการขูดหินปูนแล้ว คุณจะได้สภาพของฟันเดิมที่แท้จริงแบบไม่มีหินปูนเกาะกลับคืนและช่วยทำไม่ต้องแปรงฟันแรงจนเกิดภาวะเหงือกร่นขึ้นมาได้
อีกข้อที่คนจำนวนมากสงสัยก็คือการขูดหินปูนกับการเกลารากฟันแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งการขูดหินปูนนั้นคือการกำจัดหินปูนที่สะสมเหนือเหงือกและใต้เหงือกลงไปเล็กน้อย ขณะที่การเกลารากฟันจะเป็นการกำจัดหินปูน สิ่งสะสมบนผิวรากฟันและเนื้อเยื่ออักเสบที่อยู่ใต้เหงือกลึก ๆ โดยการขูดหินปูนส่วนใหญ่จะใช้เครื่องขูดหินปูนในการกำจัดหินปูน เครื่องจะมีเสียงดังและมีน้ำเยอะ
ทันตแพทย์จะขูดหินปูนเหนือเหงือกและอาจร่วมกับการใช้เครื่องมือปริทันต์ อาทิ คิวเรตต์ และ ซิกเกล ขูดหินปูนที่ยังหลงเหลือที่เครื่องขูดหินปูนเข้าไม่ถึง ในบริเวณซอกฟัน หรือใต้เหงือกเล็กน้อย การขูดหินปูนนั้นปกติจะไม่ต้องฉีดยาชา เนื่องจากไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยเจ็บมาก แต่อาจจะรู้สึกเสียวฟันและเจ็บเล็กน้อยที่เหงือก ผู้ป่วยมักจะทนได้ การขูดหินปูนจึงเหมาะกับผู้ป่วยที่มีสภาวะเหงือกอักเสบที่การอักเสบนั้นเกิดบริเวณเหงือกอย่างเดียว ยังไม่ทำอันตรายต่ออวัยวะปริทันต์อื่น ๆ เราสามารถขูดหินปูนทั้งปากได้เสร็จในครั้งเดียว
ขณะที่การเกลารากฟันนั้นจะเป็นการใช้เครื่องมือปริทันต์เกลากำจัดหินปูนที่อยู่ใต้เหงือก ส่วนใหญ่จะลึกมากกว่า 3 มิลลิเมตรขึ้นไป มักจะทำให้เกิดความเจ็บปวด จึงจำเป็นต้องทำร่วมกับการฉีดยาชา เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเจ็บมาก และทันตแพทย์สามารถกำจัดหินปูนรวมถึงเนื้อเยื่ออักเสบที่อยู่ลึก ๆ ได้หมดโดยไม่ต้องกังวล การรักษาโดยการเกลารากฟันนี้ส่วนใหญ่ใช้เวลานาน เป็นงานละเอียดและยากที่จะทำการกำจัดหินปูนที่อยู่ลึกให้ครบทุกด้านได้ในครั้งเดียว
จึงต้องมีการนัดมาเกลารากฟันหลายครั้ง การเกลารากฟันนั้นจะใช้รักษาในผู้ป่วยที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบ คือมีการทำลายอวัยวะปริทันต์ ไม่ใช่เฉพาะที่เหงือกแต่ลุกลามไปถึงกระดูกเบ้าฟัน สามารถสังเกตได้คือ เหงือกมีการอักเสบ ร่วมกับการมีเหงือกร่น หรือมีฟันโยก เรียกว่าอาการหนักกว่าแค่เหงือกอักเสบ เมื่อการขูดหินปูนเอาไม่อยู่ จึงต้องใช้วิธีเกลารากฟันแทนนั่นเอง
อ้างอิง:
–What is Dental Scaling and Why is it Necessary?. https://www.positivedentalhealth.com.au/what-is-dental-scaling-and-why-is-it-necessary/
–What Is Deep Scaling and Why Do I Need It?. https://www.ddsgroupnyc.com/what-is-deep-scaling-and-why-do-i-need-it/